ธปท.ลงดาบสั่งปรับ'แอลเอชแบงก์'

(Aug 5) Update: ธปท.ลงดาบสั่งปรับ'แอลเอชแบงก์': ธปท.เข้มเกณฑ์มาร์เก็ตคอนดักท์ ลงดาบ "แอลเอชแบงก์" กรณี เปิดบัญชีเงินฝากโดยไม่พิสูจน์ตัวตนลูกค้า ตามเกณฑ์ สั่งปรับ 2.46 แสน พร้อม เปิดเผยชื่อบนเว็บ นับเป็นแบงก์แห่งที่ 3 ที่ถูกลงโทษ นับจากธปท.ประกาศใช้เกณฑ์ด้าน "แอลเอชแบงก์" กำชับพนักงาน เข้มงวดมากขึ้น

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า ธปท.โดยคณะกรรมการ เปรียบเทียบปรับ ได้สั่งปรับธนาคาร แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ แอลเอชแบงก์ เนื่องจากไม่ได้ดำเนินการ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การกำกับดูแล การให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม (มาร์เก็ตคอนดักท์) เรื่องการพิสูจน์ตัวตนลูกค้า ในการเปิดบัญชีเงินฝาก

ทั้งนี้ การเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์ ต้องพบเห็นลูกค้าต่อหน้า และต้องมีกระบวนการระบุและพิสูจน์ตัวตนลูกค้า ซึ่งต้องมีข้อมูลและเอกสารแสดงตนของลูกค้าเพียงพอ อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศ ธปท. ที่ สนส.7/2559 ลงวันที่ 6 ก.ค.2559 เป็นความผิดตามมาตรา 41 เป็นเหตุให้ ต้องระวางโทษตามมาตรา 125 แห่งพ.ร.บ. ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551

ภายหลังแจ้งผลการตรวจสอบ ธนาคารได้กำชับห้ามพนักงานเปิดบัญชีเงินฝาก โดยไม่ตรวจสอบการแสดงตนของลูกค้า และธนาคารมีหลักเกณฑ์การสอบสวน และการลงโทษทางวินัยพนักงาน โดย การระวางโทษตามกฎหมายครั้งนี้ ทำให้ มีค่าปรับอยู่ที่ 246,250 บาท

รายงานข่าวแจ้งว่า การเปรียบเทียบปรับ ครั้งนี้ นับเป็นการเปรียบเทียบปรับครั้งที่ 3 หลังธปท.ได้ประกาศใช้เกณฑ์มาร์เก็ตคอนดักท์เมื่อต้นปี 2561 โดยก่อนหน้านี้ มีสถาบันการเงินที่ถูกธปท.เปรียบเทียบปรับ ไปแล้ว 2 แห่ง คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) และธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) ในฐานะที่ประกอบธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัย มิได้ดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในการประกอบธุรกิจ ตามที่ธปท.กำหนด

กล่าวคือ บังคับให้ลูกค้าทำประกันอัคคีภัย สำหรับหลักประกันของสินเชื่อที่อยู่อาศัยกับบริษัทประกันภัย บริษัทใดบริษัทหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจง โดย ลูกค้าไม่มีสิทธิที่จะเลือกทำประกันภัย กับบริษัทอื่นๆ ตามความสมัครใจ อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามประกาศของธปท. โดยฝ่าฝืนมาตรา 36 ต้องระวางโทษตามมาตรา 128 แห่งพ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 จึงเปรียบเทียบปรับธนาคารไทยพาณิชย์จำนวน 3.21 ล้านบาท และปรับธนาคารกรุงไทย 3.54 ล้านบาท

ด้านแอลเอชแบงก์ ชี้แจงว่า ภายหลัง เกิดกรณีดังกล่าวขึ้น ธนาคารมีการให้ พนักงานเข้มงวดมากขึ้นในการให้บริการ โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพการส่งมอบ บริการที่ดีให้แก่ลูกค้า โดยธนาคารมีนโยบาย อย่างชัดเจนที่จะต้องให้ลูกค้าแสดงตนก่อนทำธุรกรรม และไม่ให้พนักงาน ทำธุรกรรมเงินสดกับลูกค้านอกสถานที่ และไม่ให้พนักงานทำธุรกรรมแทนลูกค้า ซึ่งเป็นการดำเนินการตามแนวทางการ กำกับดูแลด้านการให้บริการอย่างมีคุณภาพและเป็นธรรม หรือ Market Conduct ตามที่ทางการกำหนด

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ นายรณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. ระบุว่า ธปท.ให้ความสำคัญกับ การกำกับดูแลสถาบันการเงิน ในเรื่อง การบริหารจัดการด้านการให้บริการแก่ลูกค้า อย่างเป็นธรรม ภายใต้เกณฑ์มาร์เก็ตคอนดักท์ โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนได้รับบริการทาง การเงินที่เหมาะสม ซึ่งธปท.ได้สุ่มตรวจสอบ การทำธุรกรรมและระบบการบริหารจัดการของสถาบันการเงินในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจะเปิดเผยข้อมูลคุณภาพการ ให้บริการของสถาบันการเงิน ทั้งจำนวนเรื่องร้องเรียน การกล่าวโทษ และการ เปรียบเทียบปรับ ผ่านเว็บไซต์ธปท. และเว็บไซต์สถาบันการเงินเพื่อความโปร่งใส และการพัฒนาคุณภาพการให้บริการ ในระยะต่อไป

Source: กรุงเทพธุรกิจ

เพิ่มเติม
- การเปรียบเทียบ และการกล่าวโทษ
จากการปฏิบัติฝ่าฝืนหลักเกณฑ์การบริหารจัดการด้านการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market conduct) https://www.bot.or.th/Thai/FinancialInstitutions/Pages/MC-FinesandAccusation.aspx

I BUILT MY SITE FOR FREE USING